ความสำคัญและขั้นตอนการจัดงานฌาปนกิจ

Last updated: 16 ส.ค. 2564  |  1646 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ช้อนชา ของชำร่วยงานศพ

ความสำคัญและขั้นตอนการจัดงานฌาปนกิจ


พิธีฌาปนกิจ จัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของผู้ล่วงลับ และเป็นการแสดงให้เห็นแก่ญาติผู้ล่วงลับว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกจีรังยั่งยืน ทำให้เห็นสัจธรรมชีวิต

 

ขั้นตอนและการจัดงานฌาปนกิจ

 

1. การแจ้งตาย

ขอใบมรณบัตร ผู้ที่เสียชีวิตในโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้ออกใบรับรองแพทย์ เราสามารถนำใบนี้พร้อมบัตรประชาชนของผู้เสียชีวิตไปมอบให้สำนักทะเบียนท้องถิ่นหรือที่ทำการเขตให้ทำเรื่องได้ทันที

ส่วนสาเหตุการตายที่เกิดขึ้นที่บ้าน อุบัติเหตุ หรือถูกฆาตกรรม ต้องแจ้งการตายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำตามขั้นตอนทางกฎหมาย ก่อนนำหลักฐานไปขอใบมรณบัตร

 

2. ติดต่อวัดและนำศพไปวัด

ขั้นต่อไปคือการติดต่อวัดที่ต้องการนำศพไปทำพิธี และจัดส่งศพไปยังวัดที่ตั้งบำเพ็ญกุศลได้ ที่สำคัญคือต้องนิมนต์พระสงฆ์ 1 รูปเพื่อมาชักศพด้วย


3. การอาบน้ำศพและรดน้ำศพ

ขั้นตอนการอาบน้ำศพและแต่งตัวศพทำได้เฉพาะคนในครอบครัวเท่าทั้น หลังจากอาบน้ำศพเรียบร้อยจะเป็นขั้นตอนรดน้ำศพ โดยเจ้าภาพต้องเตรียมขันใส่น้ำผสมน้ำอบหรือน้ำหอม ขันขนาดเล็กสำหรับตักน้ำยื่นให้แขก และขันขนาดใหญ่เพื่อรองรับน้ำที่รดมือศพ


4. การจัดงานบำเพ็ญกุศล


ขั้นตอนนี้จะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ

 

• การสวดพระอภิธรรมประจำคืน หรือสวดหน้าศพ จัดทำทุกคืนตั้งแต่วันแรกที่ตั้งศพที่วัด โดยมักนิยมสวด 1 คืน, 3 คืน, 5 คืน, และ 7 คืน เจ้าภาพบางงานอาจจัดให้มีการสวดพระอภิธรรมหลังจากทำบุญ 7 วันแล้ว โดยสวดอาทิตย์ละ 1 วันจนครบ 100 วัน หรือถึงวันฌาปนกิจศพ

 
• การจัดงานทำบุญ คนส่วนใหญ่นิยมบำเพ็ญกุศลทำบุญครบรอบวันตายก่อนทำการฌาปนกิจศพ ด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มาให้สวดพระพุทธมนต์และฉันเพล เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ

 
5. การบรรจุเก็บศพ

การบรรจุเก็บศพทำได้ในวันสุดท้ายของการสวดพระอภิธรรม โดยญาติสามารถตกลงกับทางวัดได้ว่าจะเก็บศพไว้กี่วันก่อนดำเนินการฌาปนกิจหรือจะเลือกฝังศพที่สุสานก็ได้เช่นกัน


6. การฌาปนกิจศพ

ขั้นตอนนี้เจ้าภาพต้องทำการกำหนดวันเผาและเวลาที่แน่นอนกับทางวัด หากเลือกให้บรรจุเก็บศพก่อนทำการฌาปนกิจ จะต้องนำศพมาตั้งสวดพระอภิธรรมก่อน 1 คืน แล้ววันรุ่งขึ้นจึงทำการฌาปนกิจต่อไป โดยในวันฌาปนกิจจะมีการบำเพ็ญกุศลหน้าศพ เช่น บวชหน้าไฟ, นิมนต์พระสงฆ์เพื่อสวดพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเพล, จัดพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์, นิมนต์พระสงฆ์สวดมาติกา – บังสุกุล, หรือถวายเครื่องไทยธรรม กรวดน้ำ เป็นต้น


7. การเก็บอัฐิ

ขั้นตอนการเก็บอัฐิแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 1. ทำพิธีเก็บอัฐิในวันเผา 2. ทำพิธีเก็บอัฐิในวันรุ่งขึ้น เจ้าภาพต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของวัดทราบว่าต้องการทำแบบไหน รวมถึงต้องจัดเตรียมโกศสำหรับบรรจุอัฐิ น้ำอบหรือน้ำหอม ดอกไม้ และอาหารคาวหวานสำหรับถวายพระสงฆ์ด้วย


8. ลอยอังคาร

ขั้นตอนการลอยอังคารเป็นความเชื่อของคนไทยที่เชื่อกันว่า ร่างกายมนุษย์เกิดจากธาตุทั้งประกอบรวมกัน คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อร่างกายแตกดับแล้วก็ควรให้กลับสู่สภาพเดิม และนอกจากนี้ยังเชื่ออีกด้วยว่าการนำอัฐิไปลอยที่แม่น้ำหรือทะเล จะทำให้ผู้ล่วงลับจากไปอย่างสงบสุข มีความสุข เหมือนดั่งสายน้ำนั่นเอง

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้